เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขณะนี้ได้กระจายไปทั่วประเทศและส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ยังเดินหน้าขับเคลื่อนต่อยอดพัฒนาระบบการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สกศ. ได้จัดทำร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 นำเสนอ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ลงนามเห็นชอบในหลักการแล้ว ซึ่งจะได้รายงานเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับต่อไป ทั้งนี้ที่ผ่านมา สกศ.ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการขับเคลื่อนงานเด็กปฐมวัยตาม พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ภายใต้ความร่วมมือ 4 หน่วยงานหลัก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผ่านกลไกขับเคลื่อนสำคัญคือคณะอนุกรรมการ ฯ ทั้ง 6 คณะ และมีผลดำเนินงานความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องที่มีเป้าหมายร่วมกันปฏิรูปการศึกษาส่งเสริมผลักดันเต็มที่ เด็กเล็กต้องได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยจึงต้องสร้างกลไกความร่วมมือที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ยกระดับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ พัฒนากลไกการตรวจสอบที่มีคุณภาพ พิจารณานําเครื่องมือดําเนินงานใหม่ ๆ มาปรับใช้ และผลักดันให้เกิดศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อนที่มีคุณภาพ
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 ซึ่งเป็นแผนระยะ 7 ปี มุ่งเน้นเด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพเป็นพื้นฐานของ ความเป็นพลเมืองคุณภาพ นอกเหนือกจากมีเป้าหมายตามเจตจำนงค์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 แล้ว ยังสอดรับกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ฯ ภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน 1.การจัดและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย 2.การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย 3.การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการพัฒนาเด็กปฐมวัย 4.การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการสารสนเทศเด็กปฐมวัย และการนำไปใช้ประโยชน์ 5.การจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการตามกฎหมาย 6.การวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ และ 7.การบริหารจัดการ การสร้างกลไก การประสานการดำเนินงาน และการติดตามประเมินผล สกศ. เห็นว่าการแปลงนโยบาย ไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล ต้องพัฒนาความเข้มแข็งในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างครอบครัวคุณภาพ โดยสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาครอบครัว ให้ครอบครัวมีความเข้าใจและให้เวลากับการดูแลบุตร การยกระดับโรงเรียนพ่อแม่ และการกําหนดนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัวในสถานประกอบการ
“แนวคิดสำคัญคือยกระดับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นแผนบูรณาการทั้งด้านบริการสาธารณสุข การจัดการศึกษา การจัดสวัสดิการ และด้านการคุ้มครองสิทธิแก่เด็กปฐมวัย ต้องเร่งสร้างระบบจูงใจให้ท้องถิ่นพัฒนาคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และกระตุ้นพัฒนาการ เด็กปฐมวัย โดยใช้แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ฯ ฉบับนี้ไปใช้เป็นกรอบแนวทางภายใต้เป้าหมายร่วมกันทั้งระบบ”ดร.อำนาจ กล่าว