เมื่อวันที่ 29 เม.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 4/2564 ว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และมีมติ ดังนี้
- เห็นชอบ การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
ตามที่ ก.ค.ศ. ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ว 6/2563) ต่อมาส่วนราชการและหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ได้นำหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ ไปปฏิบัติแล้ว พบว่าเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ 4 ประเด็น คือ 1) การพิจารณาย้าย 2) การประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้าย 3) การประกาศรายชื่อสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา 4) กำหนดการการพิจารณาย้ายครั้งแรก ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล จึงเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ ในประเด็นที่เป็นปัญหาดังกล่าว ดังนี้
- การพิจารณาย้าย เดิมกำหนดให้ย้ายขนาดเดียวกันและขนาดใกล้เคียงกัน ปรับปรุงเป็น ให้พิจารณาย้ายในสถานศึกษาประเภทเดียวกัน ที่มีสถานศึกษาขนาดเดียวกันและขนาดใกล้เคียงกัน ทั้งในจังหวัดเดียวกันและต่างจังหวัดพร้อมกันก่อน เมื่อพิจารณาย้ายขนาดเดียวกันและใกล้เคียงกันแล้วเสร็จ หากยังมีตำแหน่งว่างเหลืออยู่ให้พิจารณาย้ายข้ามขนาดสถานศึกษาได้ โดยต้องพิจารณาย้ายข้ามขนาดตามลำดับ เช่น มีตำแหน่งว่างในสถานศึกษาขนาดใหญ่พิเศษเหลืออยู่ ให้พิจารณาย้ายคำร้องขอย้ายของผู้ประสงค์ขอย้ายที่ดำรงตำแหน่งในสถานศึกษาขนาดกลางก่อนขนาดเล็ก ตามลำดับ และหากยังมีตำแหน่งว่างเหลืออยู่อีก ให้ กศจ. พิจารณาย้ายผู้ประสงค์ขอย้ายที่ดำรงตำแหน่ง ในสถานศึกษา ที่ต่างประเภทสถานศึกษากันได้
- การประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้าย เดิมกำหนดให้ อกศจ. เป็นผู้ประเมินศักยภาพ ของผู้ประสงค์ขอย้าย ปรับปรุงเป็น ให้ ผอ.สพท. ทุกเขตในจังหวัด และ ศธจ. ตรวจสอบข้อมูล ประเมินศักยภาพ ผู้ประสงค์ขอย้ายและจัดลำดับ ก่อนเสนอ อกศจ. กลั่นกรองและตรวจสอบความถูกต้องแล้วเสนอ กศจ. พิจารณาย้ายต่อไป
- การประกาศรายชื่อสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา เดิมกำหนดให้ประกาศรายชื่อสถานศึกษา ที่ประสงค์จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยความเห็นชอบของ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ หรือส่วนราชการอื่น แล้วแต่กรณี ก่อนกำหนดการส่งคำร้องขอย้ายประจำปี เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 แก้ไขเป็น กำหนดให้ประกาศรายชื่อสถานศึกษา โดยตัด “ก่อนกำหนดการส่งคำร้องขอย้ายประจำปี เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน” ออก
- กำหนดการการพิจารณาย้ายครั้งแรก เดิมกำหนดให้พิจารณาย้ายครั้งแรกให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 25 ตุลาคม แก้ไขเป็น ให้ กศจ. พิจารณาย้ายครั้งแรกให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 กันยายน และให้มีผลไม่ก่อนวันที่ 1 ตุลาคมของปีเดียวกัน ทั้งนี้ ได้ปรับระยะเวลาการยื่นคำร้องขอย้ายเป็นวันที่ 1 – 15 กรกฎาคม เพื่อให้สอดคล้องกับการพิจารณาย้ายครั้งแรกให้แล้วเสร็จ และการนับคุณสมบัติของผู้ประสงค์ขอย้าย ให้นับถึง 30 กันยายน ของปีที่ยื่นคำร้องขอย้าย ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะฯ ใหม่ (PA)
ทั้งนี้ จะได้แจ้งหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ปรับปรุงเรียบร้อยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติต่อไป
- อนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
ที่กำหนดใหม่ สืบเนื่องจากที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการกำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ณ วันที่ 28 มกราคม 2564 จึงยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2553 และ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ประกาศ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2554 และกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใหม่ จำนวน 62 เขต
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาขออนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงท้องที่จังหวัด ตามจำนวนและตำแหน่งตามกรอบอัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนดไว้เดิม จำนวน 24 เขต จำนวน 593 อัตรา และกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงท้องที่จังหวัด เพื่อให้มีผู้ปฏิบัติงานในระยะแรก จำนวน 38 เขต จำนวน 488 อัตรา รวมถึงขออนุมัติตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ชั่วคราวและมีเงื่อนไข) ที่ว่างจากกรณีอื่น (ย้าย ตาย ลาออก) ที่มิใช่ว่างจากการเกษียณอายุราชการ ไปกำหนดเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 20 อัตรา และตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 22 อัตรา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่
ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า การขอกำหนดกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ ทั้ง 62 เขต ในครั้งนี้ เป็นการขอกำหนดกรอบอัตรากำลังฯ (ชั่วคราว) ซึ่งอัตรากำลังในแต่ละตำแหน่งเป็นการปรับอัตรากำลังมาจากกรอบอัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนดไว้เดิม ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 42 เขต ไม่ได้เป็นการเพิ่มอัตรากำลังและไม่เพิ่มงบประมาณ ซึ่งเป็นประโยชน์กับทางราชการจึงพิจารณาอนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้
- กรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ชั่วคราว) ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ จำนวน 62 เขต รวม 1,081 อัตราประกอบด้วย
1) ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 62 อัตรา
2) ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 148 อัตรา
3) ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ 871 อัตรา
ทั้งนี้ ให้ใช้กรอบอัตรากำลังนี้ เป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่สำนักงาน ก.ค.ศ.แจ้งมติ เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเสนอ ก.ค.ศ.เพื่อขอทบทวนกรอบอัตรากำลังตามภาระงานต่อไป
- กรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงท้องที่จังหวัด เพื่อให้มีผู้ปฏิบัติงานในระยะแรกจำนวน 38 เขต จำนวน 488 อัตรา
1) ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 62 อัตรา แบ่งเป็นกำหนดในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเดิม 42 อัตรา และกำหนดในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใหม่ จำนวน 20 อัตรา โดยให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนจากตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ชั่วคราวและมีเงื่อนไข) ซึ่งเป็นตำแหน่งว่างจากกรณีอื่น (ย้าย ตาย ลาออก) ไม่ใช่ว่างจากการเกษียณอายุราชการ และมีอัตราเงินเดือนมากำหนด สำหรับการกำหนดตำแหน่งเลขที่ของตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้กำหนดเป็น “ตำแหน่งเลขที่ 1”
2) ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 148 อัตรา แบ่งเป็นกำหนดในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเดิม 24 เขต ๆ ละ 3 อัตรา รวม 72 อัตรา และ 18 เขต ๆ ละ 2 อัตรา รวม 36 อัตรา และกำหนดในสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษามัธยมศึกษาใหม่ 20 เขต ๆ ละ 2 อัตรา รวม 40 อัตรา โดยให้เกลี่ยอัตรากำลังจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ปริมาณงานลดลง หรือ ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือน จากตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ชั่วคราวและมีเงื่อนไข) ซึ่งเป็นตำแหน่งว่างจากกรณีอื่น (ย้าย ตาย ลาออก) ไม่ใช่ว่างจากการเกษียณอายุราชการและมีอัตราเงินเดือนมากำหนด สำหรับการกำหนดตำแหน่งเลขที่ของตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้กำหนดเป็น “ตำแหน่งเลขที่ 2 3 และ 4 ” แล้วแต่กรณี
3) ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ จำนวน 871 อัตรา แบ่งเป็นกำหนดในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เดิม 24 เขต ๆ ละ 19 – 24 อัตรา รวม 497 อัตรา และ 18 เขต ๆ ละ 7- 21 อัตรา รวม 201 อัตรา และกำหนดในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใหม่ 20 เขต ๆ ละ 7 – 12 อัตรา รวม 173 อัตรา โดยให้เกลี่ยอัตรากำลังจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ปริมาณงานลดลงมากำหนด สำหรับการกำหนดตำแหน่งเลขที่ของตำแหน่งศึกษานิเทศก์ให้กำหนดเป็นตำแหน่งเลขที่เดิม
ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำรายละเอียดการกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามกรอบอัตรากำลังฯ ทั้ง 1,081 อัตรา เสนอ ก.ค.ศ. เพื่อพิจารณากำหนดตำแหน่งฯ ต่อไป
- เห็นชอบ การปรับปรุงแนวปฏิบัติการนับหน่วยกิต กำหนดกรณีผู้สอบแข่งขันหรือผู้สมัครคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย
สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดแนวปฏิบัติการนับหน่วยกิต ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 7 ลงวันที่ 18 เมษายน 2556 ระบุว่า “กรณีหลักฐานการศึกษามิได้ระบุสาขาวิชาเอกที่ศึกษาไว้ หรือระบุไว้แตกต่าง จากประกาศรับสมัคร ให้นับจำนวนหน่วยกิตจากรายวิชาที่ศึกษาตาม Transcript ทั้งหมด ดังนี้
1) ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี ต้องศึกษาเนื้อหาวิชานั้น ๆ ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต
2) ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 2 ปี หลักสูตรต่อเนื่อง ต้องศึกษาเนื้อหาวิชานั้น ๆ ในระดับปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 20 หน่วยกิต และในระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ได้ไม่เกิน 10 หน่วยกิต รวมแล้วไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต
ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่าแนวปฏิบัติดังกล่าว กำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาที่มีคุณวุฒิและสาขาวิชาเอกแตกต่างจากการประกาศรับสมัคร สามารถนับจำนวนหน่วยกิตจากรายวิชาที่ศึกษาตาม Transcript ทั้งหมดได้ ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาทุกคุณวุฒิ ทุกสาขาวิชาที่ ก.ค.ศ. รับรอง สามารถนำหน่วยกิตในคุณวุฒิและหรือสาขาวิชาที่แตกต่างไป นำมาใช้สมัครเพื่อสอบแข่งขันหรือคัดเลือกได้ จึงส่งผลให้สถานศึกษาได้ครูในสาขาวิชา ที่ไม่ตรงตามความจำเป็น และความต้องการอย่างแท้จริง ดังนั้น การนับหน่วยกิตควรใช้เฉพาะกรณีที่หลักฐานการศึกษาที่ผู้สมัครสอบแข่งขันหรือคัดเลือกนำมาใช้สมัคร ไม่ได้ระบุสาขาวิชาเอกที่ศึกษาไว้เท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้สถานศึกษาได้ครูตรงกับความจำเป็นและความต้องการของสถานศึกษาและเพื่อประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน จึงเห็นชอบให้ปรับปรุงแนวปฏิบัติการนับหน่วยกิต จาก เดิม ที่กำหนดว่า “หากหลักฐานการศึกษามิได้ระบุสาขาวิชาเอกที่ศึกษาไว้ หรือระบุไว้แตกต่างจากประกาศรับสมัครให้นับจำนวนหน่วยกิตจากรายวิชาที่ศึกษาตาม Transcript ทั้งหมด”
ปรับปรุงเป็น “กรณีหลักฐานการศึกษา ซึ่งผู้สมัครสอบแข่งขันหรือคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย นำมาใช้สมัครสอบแข่งขันหรือคัดเลือกมิได้ระบุสาขาวิชาเอกที่ศึกษาไว้ ให้ผู้ดำเนินการสอบแข่งขันหรือคัดเลือกพิจารณาและดำเนินการนับจำนวนหน่วยกิตรายวิชาที่ศึกษา ที่ตรงกับกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอกที่ประกาศรับสมัครจากหลักฐานการศึกษา (Transcript)” โดยสาระสำคัญของการนับหน่วยกิต 1) และ 2) ให้คงเดิม
- เห็นชอบ หลักการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ปฏิบัติงานสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือหน่วยงานหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ตามนโยบายของส่วนราชการ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สามารถนำผลการปฏิบัติงานดังกล่าวมาใช้ในการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในทุกจังหวัดของประเทศไทย และปัจจุบันยังคงมีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียน การสอนของสถานศึกษา ทำให้มีการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ นั้น ซึ่งปัจจุบันอัตราการติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่กักตัวในแต่ละจังหวัด รวมทั้งบุคลากรที่ช่วยสนับสนุนทางการแพทย์หรืออำนวยความสะดวกจะมีจำนวนไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าแต่ละจังหวัดอาจมีการขอรับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานการศึกษา เช่น อาคารสถานที่ หรือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอาจต้องปฏิบัติงานนอกเหนือจากการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการศึกษา
ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีจิตสาธารณะและมีความตั้งใจในการช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ ประกอบกับ ก.ค.ศ. เคยมีมติเห็นชอบให้นำผลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประสบผลสำเร็จ และผลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือและให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาและชุมชนในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นองค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มเติม ตาม ว 6/2555 จึงเห็นควรให้สิทธิประโยชน์ แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาดังกล่าว โดยให้ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ในการให้การสนับสนุนและช่วยเหลือหน่วยงานหรือชุมชนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานที่สามารถนำไปใช้ในการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานได้ และมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป