เมื่อวันที่ 5 เมษายน ศ.กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เดินทางมาที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เพื่อมอบนโยบายและยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานของศธ.โดยมีน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงของศธ.เข้าร่วม ว่า นโยบาย 12 ข้อและวาระเร่งด่วน 7 ข้อ ของ น.ส.ตรีนุช ที่มอบให้หน่วยงานในสังกัดศธ.ไปดำเนินการ ถือว่าครอบคลุมเพียงพอและสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร และนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว และตนในฐานะกำกับดูแลศธ.ก็มีความห่วงใยและความปรารถนาดี ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ เพราะในช่วงที่ผ่านมารัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ได้กำชับเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับการศึกษาให้ไปดำเนินการอะไรไว้บ้าง ทั้งนี้นายกฯได้ให้ความสำคัญอันดับแรก คือเรื่องการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะการผลักดันร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เตรียมจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯในเดือนพฤษภาคม อย่างช้าที่สุดไม่เกินเดือนมิถุนายน เรื่องที่ 2 นายกฯยังอยากเห็นการกำกับดูแลมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม ของครูที่ปฏิบัติต่อนักเรียน ทั้งเรื่องการล่วงละเมินทางเพศ ไปถึงการใช้ความรุนแรงทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ไปจนถึงพฤติกรรมการรับน้องใหม่ ในสถานศึกษาด้วย
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ 3 เรื่องการปรับปรุงหลักสูตร ซึ่งตนอยากให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย การประพฤติปฏิบัติต่อกฎเกณฑ์ในวิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งปัจจุบันได้เรียนภายใต้ชื่อวิชาอื่น ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่เหมือนกับสมัยก่อนที่ใช้ชื่อว่า วิชาหน้าที่พลเมืองโดยตรง จึงทำให้เกิดความแปลกแยกระหว่างคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ ดังนั้นขอให้ไปคิด ว่า จะทำอย่างไร ที่จะนำทั้งสองเรื่องกลับมาส่งเสริมในการเรียนการสอน เช่น นำชื่อวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยกลับมา หรือเรียนประวัติศาสตร์ไทยให้กว้างขึ้น เป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เป็นต้น และอีกเรื่องที่ได้พูดถึง คือ การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพราะการเรียนการสอนของไทยส่วนใหญ่ยังเป็น Passive Learning ที่ผลิตคนเพื่อป้อนระบบราชการ แต่ในโลกความเป็นจริงเราต้องการผลิตคนเพื่อโลกในศตวรรษที่ 21 คือ เป็นคนที่ลงมือปฏิบัติ ทำด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดความรู้ที่รอบด้าน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนให้เป็น Active Learning และเมื่อเด็กผ่านกระบวนการนี้แล้ว ก่อนจะทำอะไรหรือคิดผลิตชิ้นงานแต่ละชิ้น เขาจะต้องศึกษาและลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ใช่ทำตามที่ครูบอก ซึ่งกระบวนการนี้เป็นหัวใจสำคัญของการเกิดนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังฝากถึงการส่งเสริมการเรียนอาชีวศึกษา ซึ่งสังคมมักจะมองคนที่เรียนอาชีวะ เหมือนงานกรรมกร ใช้แรงงาน และมองเด็กอาชีวะ ว่า เป็นคนที่ไม่อยู่ในระเบียบวินัย ซึ่งเป็นเพียงพฤติกรรมของบางคน แต่ความจริงแล้วอาชีวะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ อยากให้มีคนมาเรียนมากขึ้น ดังนั้น อาจต้องอาศัยหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยดูแล เช่น จบแล้วจะสามารถเทียบตำแหน่งทางราชการได้ในระดับใดเพื่อจูงใจ เรื่องนี้ตนรับปัญหานี้จะไปคิดกับทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ต่อไป
ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.รับนโยบายและขับเคลื่อนเรื่อง Active Learning ตั้งแต่การประชุมที่ผ่านมา และได้มีการขยายผลไปแล้วในบางพื้นที่ แต่ในช่วงเร่งด่วนนี้จะทำให้เต็มที่ โดยเฉพาะพื้นที่นวัตกรรม อย่างไรก็ตามมเรื่องของ Active Learning จะทำควบคู่ไปกับการปรับหลักสูตรจากอิงมาตรฐาน ไปสู่อิงสมรรถนะ เพราะจะเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนจากการเรียน Passive Learning ที่ฟังอย่างเดียว ไปสู่การเรียนแบบปฏิบัติ คือ Active Learning โดยเป้าหมายคือ ทุกโรงเรียนต้องปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนภายในปีนี้ เพื่อให้ทันการปรับหลักสูตรในปีการศึกษา 2564 -2565 ทั้งนี้จะต้องมีการอบรมครูให้รู้จักการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วย