เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2564 ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยถึงผลการประชุม กพฐ. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้นำเสนอโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียน โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดมาตรฐานขั้นพื้นฐานในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพของโรงเรียน หรือ FSQL ที่จะมีการประเมินสถานศึกษา 7 ด้าน เพื่อจะใช้เป็นฐานในการจัดสรรงบประมาณของโรงเรียน และใช้ในการควบรวมสถานศึกษาด้วย โดยเหตุผลที่ต้องมีการใช้ FSQL เนื่องจากในอดีตการของบประมาณจะขอตามความคิดและความจำเป็นของสถานศึกษา แต่ตอนนี้ต้องบวกกับข้อมูลพื้นฐาน FSQL เข้าไปด้วย ซึ่งจะทำให้การจัดสรรงบประมาณมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้จะมีการทดลองใช้การประเมินดังกล่าวกับโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่มีอิสระในการบริหารจัดการพอสมควร เพื่อดูว่าโมเดลนี้ได้ผลและสามารถขยายผลต่อไปอย่างไร
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ.ได้เสนอกรอบแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน สพฐ.ต่อที่ประชุม กพฐ. โดยให้มีการจัดกลุ่มโรงเรียน เป็น 1.โรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาสและเด็กพิการ 2.โรงเรียนปกติ ซึ่งแบ่งเป็นโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และเพื่อให้โรงเรียนทุกโรงมีคุณภาพใกล้เคียงกัน ก็จะมีการตรวจสุขภาพโรงเรียนทั้งการตรวจประเมินด้วยบุคคล และ ด้วยโปรแกรม เพื่อดูคุณภาพผู้เรียน คุณภาพการเรียนการสอน การใช้สื่อเทคโนโลยี รวมถึง สิ่งแวดล้อม จากนั้นจะให้ทุกโรงเรียนมีโอกาสพัฒนาโรงเรียนตนเอง ถ้าเห็นจุดไหนเป็นจุดด้วยหรือมีแผนพัฒนาอย่างไรจะได้แก้แก้ปัญหาได้ และที่ดีอยู่แล้วจะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างไร และสามารถทำได้ทุกปี โดยการประเมินตนเองจะสัมพันธ์กับระบบประกันคุณภาพภายในและรองรับการประเมินภายนอกได้ด้วย
“นอกจากโรงเรียนต้องประเมินตนเองแล้ว ครูก็ต้องมีการประเมินตนเอง ว่า นักเรียนที่สอนอยู่ในระดับไหนแล้วต้องได้รับการพัฒนาอะไรอีกบ้าง ขณะที่เด็กนักเรียนก็ต้องประเมินตนเองเช่นกัน เพราะฉะนั้นเด็กทุกคนต้องมีแผนพัฒนาตนเอง ครูทุกคนก็ต้องมีแผนพัฒนาตนเอง และโรงเรียนก็ต้องมีแผนพัฒนาโรงเรียนเช่นกัน เพื่อประเมินให้เกิดความก้าวหน้า เพราะเราไม่ต้องการให้เกิดการเปรียบเทียบว่าโรงเรียนนั้นแย่กว่าโรงเรียนนี้ เพราะบริบทต่างกัน ดังนั้นผมจึงอยากให้เริ่มจากการตรวจสุขภาพตนเองแล้วพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยตัวเองก่อน และถ้าเกินกว่าความสามารถที่โรงเรียนจะทำได้ เขตพื้นที่การศึกษา คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)ต้องเข้าไปช่วยสนับสนุน และถ้าเกินกว่านั้น สพฐ.ก็จะเข้าไปสนับสนุน ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้โรงเรียนมีทิศทางและรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ และจะเกิดความยั่งยืนในอนาคต”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ดร.อัมพร กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เวลานี้ เราไม่สามารถให้โรงเรียนคงอยู่ทั้ง 29,000 กว่าโรงได้ เพราะมีโรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้น ซึ่งเราไม่สามารถเติมครู เติมผู้บริหารได้ทุกโรงเรียน แต่เราก็ต้องการได้โรงเรียนที่จะสามารถเคลื่อนไปเรียนรวมกันในที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญว่า ถ้าเราจะทำที่ไหนก็ต้องมีการตรวจสุขภาพก่อน ว่ามีความพร้อมหรือไม่ และถ้าหากยังไม่เข้าร่วมแต่ต้องจัดสรรงบประมาณลงไปก็จะใช้ข้อมูลของ FSQL มาพิจารณาด้วย เพื่อไม่ให้การลงทุนสูญเปล่า ถ้าโรงเรียนไหนเป็นศูนย์กลางที่จะรองรับโรงเรียนอื่นเราก็จะจัดสรรงบฯลงไปให้ เพื่อให้โรงเรียนมีความพร้อมในการรับเด็กจากโรงเรียนอื่น ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเกิดความยั่งยืน ไม่ใช่กลับไปกลับมา นอกจากนี้เรื่องหลักสูตรก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องปรับให้ทันสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลง ให้เป็นหลักสูตรอิงสมรรถนะโดยจะเร่งให้ทันใช้ในปีการศึกษา 2565 อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้เสนอว่า ถ้าเป็นไปได้อาจต้องมีการนำร่องในปี 2564 คู่ขนานไปกับการพัฒนาด้วย