เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564  ดร.อัมพร พินะสา  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการสอบถามเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง โดยเข้าใจว่า ได้ถูกถอดออกจากหลักสูตรไปแล้ว ว่า  จริง ๆ  แล้ว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้กำหนดให้นักเรียนทุกช่วงวัยเรียนวิชาประวัติและหน้าที่พลเมืองอยู่แล้ว แต่เนื่องจากการหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ที่ใช้ในปัจจุบัน ได้กำหนดให้สาระ 1.ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม 2. หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิต 3.เศรษฐศาสตร์  4.ประวัติศาสตร์ และ 5. ภูมิศาสตร์ รวมไว้ด้วยกันในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และ วัฒนธรรม โดยให้เป็นการบังคับเรียนทั้ง 5 สาระเพียงแต่สถานศึกษาต้องนำสาระการเรียนเหล่านี้ไปจัดทำเป็นวิชาเพื่อจัดการเรียนการสอน  ซึ่งจะต่างจากหลักสูตรเดิมที่กำหนดเป็นชื่อวิชาเฉพาะไปเลย เช่น วิชาหน้าที่พลเมือง วิชาศีลธรรม วิชาประวัติศาสตร์ เป็นต้น

“สรุปคือ มีการกำหนดให้เรียนสาระเหล่านั้นไว้อยู่แล้ว โดยให้เรียนตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6  และให้เพิ่มชั่วโมงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย เช่น  ป.1-6 ให้เรียน 120 ชั่วโมง  พอเรียนในระดับที่สูงขึ้นก็ให้เรียน 240 ชั่วโมง อย่างวิชาหน้าที่พลเมืองแม้จะอยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ แต่ก็มีชั่วโมงให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่เป็นหน้าที่ของพลเมืองที่นักเรียนต้องปฏิบัติ ตั้งแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ วิชาประวัติศาสตร์ สพฐ.ก็ส่งเสริมให้โรงเรียนหาวิธีการจัดการเรียนการสอนที่คำถึงถึงประวัติศาสตร์ของชุมชน ประวัติศาสตร์ที่อยู่ใกล้ตัว ประวัติศาสตร์ของชาติ ตลอดจนประวัติศาสตร์ของภูมิภาคและของโลก เป็นต้น”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ส่วนรูปแบบการจัดการเรียนการสอน สพฐ.ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนได้หลายวิธี และยังมีการเรียนภาคปฏิบัติด้วย เช่น เรียนเป็นกลุ่ม เรียนในลักษณะการค้นคว้าวิจัย มีการอภิปราย มีการตั้งคำถามให้นักเรียนสืบค้น การเรียนนอกสถานที่ ซึ่งบูรณาการกับการพานักเรียนไปแหล่งเรียนรู้ก็ให้เน้นในทางประวัติศาสตร์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาหน้าที่พลเมืองเราก็ปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักหน้าของตนเองว่าเป็นเด็กมีหน้าที่อย่างไร หน้าที่ต่อครอบครัวเป็นอย่างไร หน้าที่ต่อสังคมเป็นอย่างไร หน้าที่ต่อประเทศชาติเป็นอย่างไร

ดร.อัมพร กล่าวด้วยว่า สำหรับสื่อการสอน สพฐ.ได้ส่งเสริมให้ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐผลิตหนังสือเรียน และสื่อเทคโนโลยี  โดยมอบให้สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน ของ สพฐ. ผลิตสื่อเป็นคลิปสั้น ๆ  10 เรื่อง รวมถึงร่วมกับมหาวิทยาลัยในการผลิตสื่อที่นำเทคโนโลยี AR มาใช้การจัดการเรียนการสอนด้วย โดย สพฐ.จะนำสื่อเหล่านี้ลงสถานศึกษาเพื่อให้เลือกนำไปใช้ นอกจากนี้ยังให้รวบรวมสื่อการเรียนการสอนที่ดี ๆ ของจากแหล่งต่าง ๆ มาไว้ที่ OBEC Channel เพื่อให้โรงเรียนดึงไปใช้ได้ด้วย อย่างไรก็ตามโดยสรุปก็คือ ปีการศึกษา 2564 สพฐ.จะรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนให้ความสำคัญกับการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง รวมถึงคุณธรรม จริยธรรมให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะเราคิดว่าเด็กถ้าดีและเก่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments